
คุณอาจจะเคยสงสัยว่า การเติมความหวานลงในเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลแท้, น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ปราศจากแคลอรี ทำให้เกิดความแตกต่างของพลังงานที่คุณบริโภคตลอดทั้งวันหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจดังกล่าวค่ะ
จากการศึกษาในกลุ่มผู้ชายที่มีสุขภาพแข็งแรง 30 คนอายุระหว่าง 21 ถึง 50 ปี แต่ละคนจะมาติดตามผลที่คลินิค 4 ครั้ง โดยพวกเขาจะรับประทานอาหารเช้าเมนูเดียวกัน และตามด้วยเครื่องดื่มที่เติมสารให้ความหวาน 4 ชนิดแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งคือ น้ำตาลธรรมดา (ซูโครส), น้ำตาลเทียม (แอสปาแตม), และสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ปราศจากแคลอรีที่ทำจากพืช เช่น หญ้าสตีเวีย หรือ หล่อฮังก้วย (monk fruit) จากนั้นพวกเขาจะได้รับอาหารกลางวันที่ต้องรับประทานให้อิ่ม หลังจากนั้นก็กลับบ้านแล้วบันทึกสิ่งที่รับประทานและแคลอรีที่ได้รับมาตลอดทั้งวัน
นักวิจัยพบว่า
หากไม่คำนึงถึงชนิดของสารให้ความหวานในเครื่องดื่มที่ดื่มช่วงรับประทานอาหารเช้า
ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับปริมาณแคลอรีเท่า ๆ กันตลอดทั้งวัน (ประมาณ 2,300 แคลอรี) เนื่องจากพวกเขารับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางวันในวันที่พวกเขาไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มเติมน้ำตาลแคลอรีสูงในตอนเช้าเมื่อเทียบกับวันที่ได้ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว
ดังนั้น Siew Ling Tey นักวิจัยจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการวิจัยในสิงคโปร์จึงกล่าวสรุปว่า พลังงานที่ลดน้อยลงจากสารให้ความหวานเทียมจะถูกชดเชยด้วยการรับประทานอาหารมากขึ้นในมื้อถัดไป
นอกจากนี้แม้ว่าผู้เข้าร่วมทดลองจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นไม่นานหลังจากที่บริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลแท้ ๆ ในตอนเช้า พวกเขาก็ยังมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลังรับประทานอาหารกลางวันในวันที่พวกเขาบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแคลอรี่ ซึ่งหมายความว่าระดับกลูโคสในเลือดโดยรวมมีระดับพอ ๆ กันสำหรับทุกกลุ่มในเวลา 3 ชั่วโมงก่อนและหลังอาหารกลางวัน
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาของพวกเขามีขนาดเล็กและสารให้ความหวานแต่ละชนิดได้รับการทดสอบเพียงวันเดียว นักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาในระยะยาวเพื่อหาผลกระทบในระยะยาวต่อน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้บริโภคน้ำตาลและสารให้ความหวานประเภทต่าง ๆ